การวิเคราะห์สินทรัพย์ด้วย Technical Indicator

11 Jan 2567

การวิเคราะห์สินทรัพย์ด้วย Technical Indicator

Technical Indicator เป็นการคำนวณราคาสินทรัพย์ด้วยสูตรทางคณิตศาสตร์หรือใช้เครื่องมือทางสถิติ โดยนำข้อมูลในอดีตและปัจจุบันมาสร้างเป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์ เพื่อให้ง่ายในการทำความเข้าใจสภาวะตลาด รวมถึงพฤติกรรมของเทรดเดอร์และนักลงทุน ซึ่งได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในตลาดการเงิน เช่น ตลาดหุ้น ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ หรือแม้กระทั่งในตลาดคริปโทเอง

Technical Indicators มีกี่ประเภท?

เครื่องมือวิเคราะห์ทางเทคนิคมีด้วยกันหลากหลายประเภท ซึ่งแต่ละประเภทมีลักษณะการนำไปใช้และวัตถุประสงค์ในการสร้างที่แตกต่างกัน ซึ่งอาจแบ่งเป็นกลุ่มได้ดังต่อไปนี้
  1. Trend Following
    เครื่องมือในกลุ่มนี้ใช้เพื่อบอกทิศทางของราคาและความแข็งแกร่งของแนวโน้มที่เกิดขึ้น เช่น เส้น Moving Average (MA), Average Directional Index (ADX) เป็นต้น

  2. Oscillators
    เครื่องมือในกลุ่มนี้ค่อนข้างได้รับความนิยม เพราะสามารถบอกถึงสภาวะของตลาดได้ว่าในช่วงเวลานั้นๆ มีการซื้อหรือขายมากเกินไปหรือไม่ ซึ่งนักเทรดอาจใช้เป็นจุดระมัดระวังในการหาจุดกลับตัวของแนวโน้ม เช่น Relative Strength Index (RSI), Stochastic Oscillator เป็นต้น

  3. Momentum Indicator
    ช่วยให้ประเมินความเร็วและขนาดของการเคลื่อนไหวของราคา บ่งชี้ว่าราคาของสินทรัพย์นั้นกำลังได้รับหรือสูญเสียโมเมนตัม เครื่องมือที่ได้รับความนิยมในกลุ่มนี้ นั่นคือ Moving Average Convergence Divergence (MACD)

  4. Volume Indicator
    เป็นกลุ่มเครื่องมือที่ช่วยวิเคราะห์ปริมาณการซื้อขาย มักใช้ร่วมกับการเคลื่อนไหวของราคา สามารถนำไปใช้ประกอบกับการหาแนวรับ-แนวต้านได้ ตัวอย่างเช่น On-Balance Volume (OBV), Chaikin Money Flow (CMF), Volume Weighted Average Price (VWAP) เป็นต้น

  5. Volatility Indicator
    กลุ่มเครื่องมือนี้ช่วยให้นักเทรดสามารถวัดระดับความผันผวนของราคาได้ว่า อยู่ในระดับที่มีความผันผวนสูงหรือต่ำ เช่น Bollinger Bands, Average True Range (ATR), Keltner Channels เป็นต้น

  6. Indicator ที่บอกแนวรับ-แนวต้าน
    ช่วยหาแนวรับและแนวต้านบนกราฟราคา ตัวอย่างเช่น Pivot Point, Fibonacci Retracement, Moving Average Envelopes (ENV) เป็นต้น

  7. Price Pattern Indicator
    เป็นการสังเกตรูปแบบการเคลื่อนไหวของราคาที่มีลักษณะเฉพาะ ตัวอย่างเช่น รูปแบบสามเหลี่ยม, รูปแบบ Head and Shoulders, รูปแบบ Double Top, รูปแบบ Double Bottom เป็นต้น นอกจากนั้นยังรวมถึงทฤษฎีต่างๆ อีกด้วย ตัวอย่างเช่น Harmonic Patterns, ทฤษฎี Elliott Wave, การวิเคราะห์รูปแบบแท่งเทียน

ข้อดีและข้อจำกัดของการใช้ Technical Indicator

แม้ว่า Technical Indicator จะมีเครื่องมือมากมาย แต่ก็มีทั้งประโยชน์และข้อจำกัดที่เหล่านักเทรดต้องรู้ ดังนี้

ข้อดีของ Technical Indicator

  1. ใช้เพื่อการวิเคราะห์: Technical Indicator ช่วยให้นักเทรดสามารถใช้ข้อมูลและสูตรการคำนวนต่างๆ ที่อ้างอิงจากข้อมูลราคาในอดีตได้ ทำให้ปราศจากการตัดสินใจโดยใช้อารมณ์หรือการคิดไปเอง จึงสามารถนำไปใช้วิเคราะห์ภาพรวมของตลาดหรือราคาเหรียญคริปโทนั้นๆ ได้
  2. แสดงให้เห็นภาพมากขึ้น: Indicator โดยส่วนใหญ่มักจะเป็นจุดหรือเป็นเส้นกราฟที่แสดงควบคู่ไปกับการเคลื่อนไหวของราคา ทำให้นักเทรดเห็นพฤติกรรมของนักลงทุนในตลาดได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพื่อวิเคราะห์รูปแบบ แนวโน้ม และมองหาโอกาสในการซื้อขายได้
  3. จับจังหวะในการเทรด: Technical Indicator สามารถใช้หาจังหวะในการเข้าไปซื้อขายเพื่อทำกำไรตามเงื่อนไขหรือหน้าเทรดที่ใช้ได้ นักเทรดจึงสามารถหาจุดเข้าและจุดออกจากเครื่องมือทางเทคนิคได้
  4. ใช้ยืนยันการวิเคราะห์: Indicator สามารถช่วยยืนยันหรือตรวจสอบรูปแบบหรือแนวโน้มของกราฟราคาได้ ยิ่งเมื่อใช้ประกอบกับตัวช่วยอื่นๆ ในการวิเคราะห์ จะยิ่งทำให้นักเทรดมีความมั่นใจยิ่งขึ้น
  5. ช่วยในเรื่องการทำ Backtesting ได้: นักเทรดสามารถใช้สัญญาณจาก Technical Indicator ในการหาสัญญาณการซื้อขาย เพื่อหาทดสอบหารูปแบบการเทรดที่มีประสิทธิภาพได้

ข้อจำกัดของ Technical Indicator
  1. ความล่าช้าในการแสดงผล: เนื่องจาก Technical Indicator คำนวนมาจากข้อมูลราคาในอดีต ทำให้เมื่อเกิดการเคลื่อนไหวของราคาที่รุนแรง Indicator ดังกล่าวอาจส่งสัญญาณหลังจากที่การเคลื่อนไหวของราคาได้เกิดขึ้นแล้ว อาจทำให้พลาดโอกาสหรือเกิดความสูญเสียขึ้นได้
  2. การส่งสัญญาณหลอก: ในบางครั้งอาจส่งสัญญาณที่ผิดพลาดได้ หรือที่เรียกกันในบรรดาเทรดเดอร์ว่า การเกิด False Break-out ซึ่งทำให้อาจเกิดการตัดสินใจที่ผิดพลาด ส่งผลให้เกิดความเสียหายขึ้นได้ ดังนั้น นักเทรดจึงควรใช้เครื่องมืออื่นๆ ประกอบการตัดสินใจด้วย 
  3. การปรับตัวของตลาด: ตลาดมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ รวมถึงพฤติกรรมของนักลงทุนในตลาดด้วย ทำให้ในบางครั้ง Indicator ที่เคยใช้ได้ผลในช่วงระยะเวลาหนึ่ง อาจไม่สามารถใช้ได้เมื่อเวลาผ่านไป ทำให้นักเทรดต้องปรับตัวอยู่ตลอดเวลาด้วยเช่นกัน
สรุป
จะเห็นได้ว่า Technical Indicator มีเครื่องมือให้นักเทรดเลือกใช้อยู่หลายอย่าง อีกทั้งมีประโยชน์ในการใช้งานในหลายมิติ
อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อจำกัดอยู่บางประการ ซึ่งการเรียนรู้ถึงข้อจำกัดของการใช้เครื่องมือจะยิ่งทำให้นักเทรดเข้าใจและใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

บทความที่เกี่ยวข้อง