รู้จัก Smart Contract โปรแกรมยกระดับความสามารถบล็อกเชน
นับตั้งแต่การมาของ Ethereum และเทคโนโลยี Smart Contract การพัฒนาและการใช้งานบล็อกเชนก็เป็นไปอย่างก้าวกระโดดเกิดเป็นแอปพลิเคชันและการใช้งานรูปแบบใหม่ๆ ที่ไม่ใช่แค่การรับ-ส่งสินทรัพย์ดิจิทัลเท่านั้น Smart Contract คืออะไร ทำไมถึงยกระดับบล็อกเชนขึ้นไปอีกขั้น มาเรียนรู้กันในบทความนี้ได้เลย
Smart Contractคืออะไร
สัญญาอัจฉริยะ หรือ Smart Contract คือโปรแกรมขนาดเล็กที่ถูกเก็บไว้ในบล็อกเชน โดย Smart Contract จะมีโค้ดที่ระบุเงื่อนไขต่างๆ ของสัญญา เช่น การซื้อขาย การเช่า หรือข้อตกลงอื่นๆ ที่ทั้งสองฝ่ายตกลงกันไว้
สิ่งที่ทำให้ Smart Contract แตกต่างจากสัญญาธรรมดาคือ เมื่อเงื่อนไขที่กำหนดไว้ถูกเติมเต็ม Smart Contract จะดำเนินการตามข้อตกลงที่ตั้งไว้อย่างอัตโนมัติ โดยไม่ต้องมีคนมาคอยจัดการ ซึ่งช่วยให้กระบวนการต่างๆ รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ตัวอย่างง่ายๆ:
สมมติว่า นาย A เป็นเจ้าของห้อง และ นาย B ต้องการเช่าห้องนี้ ทั้งสองฝ่ายสามารถตกลงเงื่อนไขกันผ่าน Smart Contract ได้ เช่น ถ้านาย B ไม่จ่ายค่าเช่าภายในเวลาที่กำหนด Smart Contract จะทำการล็อคห้องให้อัตโนมัติ หรือถ้านาย B เช่าห้องจนถึงเวลาที่ตกลงกันไว้และต้องการย้ายออก Smart Contract ก็จะคืนเงินมัดจำให้นาย B อัตโนมัติ
ขั้นตอนเหล่านี้ นาย A และนาย B ไม่จำเป็นต้องทำอะไรเอง เพราะ Smart Contract จะดำเนินการทุกอย่างตามเงื่อนไขที่ถูกกำหนดไว้ล่วงหน้า นั่นทำให้ Smart Contract มีความสะดวกและปลอดภัยมากขึ้นเมื่อเทียบกับการทำสัญญาแบบดั้งเดิม
สิ่งที่เป็นจุดเด่นของ Smart Contract คือการทำงานอยู่บนเทคโนโลยีบล็อกเชน(Blockchain) หมายความว่าทุกคนสามารถตรวจสอบข้อมูลใน Smart Contract ได้อย่างโปร่งใส ว่ามีการทำงานอย่างไร เชื่อถือได้หรือไม่ รวมถึงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงข้อมูลหรือเงื่อนไขใน Smart Contractได้อีกด้วย
ประโยชน์ของ Smart Contract
เพื่อที่จะเห็นประโยชน์ของ Smart Contract ได้ชัดเจนมากขึ้น เราต้องย้อนมาดูระบบการทำงานของสัญญาทั่วไปก่อน ยกตัวอย่าง หากนาย A ต้องการซื้อคอนโดจาก Bทั้งสองก็เลยร่วมกันเขียนข้อตกลงซื้อขายขึ้นมา
แต่โดยปกติแล้วการทำสัญญาซื้อขายระหว่างสองคนต้องมีคนกลางที่เชื่อถือได้เป็นผู้รับรองความถูกต้องของข้อตกลง ซึ่งคนกลางในกรณีนี้มักเป็นธนาคารหรือหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง แน่นอนว่าการมีคนกลางเข้ามาจะเพิ่มความซับซ้อนและใช้เวลาในการดำเนินงานมากขึ้น แถมต้องเสียค่าธรรมเนียมให้กับคนกลางอีกด้วย
แต่ถ้าเป็น Smart Contract ที่ทำงานบนบล็อกเชน เราสามารถ “ตัดคนกลาง” ออกจากกระบวนการได้เลย! เนื่องจากข้อมูลถูกบันทึกไว้บนบล็อกเชนแล้ว ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลว่านาย B เป็นเจ้าของคอนโดจริงหรือไม่ หรือนาย Aเคยมีประวัติโกงอะไรมาก่อนหรือไม่ ข้อมูลทั้งหมดนี้ Smart Contractสามารถตรวจสอบและดำเนินการให้โดยอัตโนมัติหากเงื่อนไขตรงตามที่มันถูกเขียนขึ้นมา นั่นจึงทำให้การดำเนินการผ่าน Smart Contract ใช้เวลาและค่าธรรมเนียมน้อยกว่า เพราะสามารถตัดคนกลางออกจากกระบวนการไปได้นั่นเอง
ตัวอย่างการใช้ Smart Contractในชีวิตจริง
บล็อกเชนเครือข่ายแรกที่นำ Smart Contract มาใช้และประสบความสำเร็จที่สุดเครือข่ายหนึ่งก็คือ Ethereumโดย Ethereumมีเหรียญ ETH ที่เป็นสกุลเงินหลักของเครือข่าย โดยนอกจาก ETH จะถูกใช้การโอนมูลค่าภายในเครือข่ายแล้ว เหรียญนี้ยังมีประโยชน์ในการใช้เพื่อให้ Smart Contract ทำงานได้อีกด้วย
ตัวอย่างการใช้ Smart Contract ที่น่าสนใจบน Ethereumก็คือการ ICO (Initial Coin Offering) หรือการระดมทุมผ่าน Smart Contract โดยโปรเจกต์อย่าง EOS, Band Protocol, NEAR Protocol ต่างก็ใช้ Smart Contract ในการระดมทุน ซึ่งก็สามารถรวบรวมเงินทุนมูลค่าหลายล้านดอลลาร์ไปใช้ในการพัฒนาโปรเจกต์ต่อจนประสบความสำเร็จ
Smart Contract คือโปรแกรมขนาดเล็กที่อยู่บนบล็อกเชน โดยเป็นโปรแกรมที่สามารถดำเนินการได้ด้วยตัวเองตามเงื่อนไขที่ถูกเขียนขึ้นมา เนื่องจาก Smart Contract ทำงานอยู่บนระบบบล็อกเชน มันจึงเป็นสัญญาที่ทุกฝ่ายสามารถตรวจสอบได้อย่างโปร่งใส และสามารถตัดตัวกลางออกจากการทำธุรกรรมได้ จึงถูกนำไปประยุกต์ใช้ในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการซื้อขาย หรือการระดมทุน เป็นต้น